13 กันยายน 2566

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Chiang Mai University CMU History Map Community



มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย โดยใช้ชื่อตามจังหวัดเป็นแห่งแรก เป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งขึ้นใน ส่วนภูมิภาค และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เรียกชื่อตามชื่อเมือง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ขนาบข้างด้วยถนนห้วยแก้ว และถนนสุเทพ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 ก.ม. และมีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่เศษ เปิดทำการสอน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507

ปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคขึ้นแต่เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 การดำเนินงานจึงชะงักลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 รัฐบาลชุดจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาว่า "จะดำเนินการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดถึงการศึกษาชั้นสูง" พ.ศ. 2502 ได้มีการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา 8 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล.ปิ่น มาลากุล) เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นว่า "น่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่" พ.ศ. 2503 รัฐบาลชุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลงมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกชื่อมหาวิทยาลัยนี้ว่า "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"



มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508

ในระยะเริ่มต้นได้เปิดดำเนินการสอนเพียง 3 คณะ ที่เป็นรากฐานของทุกสาขาวิชา คือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้รับโอนกิจการคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จาก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) มาเป็นคณะแพทยศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีเดียวกันนี้เอง ได้เริ่มจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์ขึ้นอีกคณะหนึ่ง ในปีการศึกษา 2511 ได้จัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ และในปีการศึกษา 2513 ได้จัดตั้งคณะใหม่อีก คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 จึงได้จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะคือ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีคณะทั้งหมดด้วยกัน 21 คณะ โดยในปี พ.ศ. 2518 ได้จัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์เพิ่มขึ้น และตั้งบัณฑิตวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นหน่วยประสานงานด้านการเรียนการสอนและมาตรฐานหลักสูตรขั้นบัณฑิต ศึกษามีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งแต่การดำเนินงานด้าน การสอนและการวิจัยซึ่งกระทำโดยคณาจารย์ของคณะ และได้มีการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2525 เปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ ปีการศึกษา 2526 ในปี 2536 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะ คือ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร และในปี พ.ศ. 2538 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มอีก 1 คณะคือคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นคณะที่ 17 ในปีพ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งอีกสามคณะคือ คณะการสื่อสารมวลชน คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (เทียบเท่าคณะ) ล่าสุดปีพ.ศ. 2549 ได้จัดตั้งคณะที่ 21 คือ คณะนิติศาสตร์ โดย การประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยของไทย สกอ ได้จัดให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในกลุ่ม ดีเลิศ ทั้งการเรียนการสอน และการวิจัย

ในปี พ.ศ. 2550 ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่าน สนช. และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐลำดับ ที่ 12


สัญลักษณ์ ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สีม่วงดอกรัก สีประจำมหาวิทยาลัย

ตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปวงกลม ๒ วง ประกอบด้วย วงกลมชั้นนอก จำนวน ๒ เส้น เป็นขอบของตราเครื่องหมายและวงกลมชั้นใน จำนวน ๑ เส้น ระหว่างวงกลมนอกและวงกลมใน ด้านบนมีอักษรบาลี "อตตานํ ทมยนติ ปณฑิตา" ด้านล่างมีอักษรไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่ว่างระหว่างอักษรบาลีและภาษาไทยมีดอกสักคั่นข้างละ ๑ ดอก ภายในวงกลมชั้นในมีรูปช้าง ท่าทางงามสง่าเป็นธรรมชาติ อยู่ในท่าก้าวย่างและชูคบเพลิง รัศมี ๘ แฉก ดังนั้นโดยความหมายแล้ว ช้างหมายถึงภาคเหนือ การก้าวย่างของช้างหมายถึง ความเจริญก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้ง คบเพลิง หมายถึง ความสว่างไสวแห่งปัญญาและวิชาการ รัศมี ๘ แฉก หมายถึงคณะทั้ง ๘ ที่มหาวิทยาลัยจะจัดตั้งขึ้น ดอกสักที่คั่น หมายถึง ต้นไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ส่วนอักษรไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๐๗ นั้นหมายถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่อันดับ ๖ ของประเทศไทย

"อตตานํ ทมยนติ ปณฑิตา"แปลว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน เป็นคำขวัญประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สังฆปรินายก ทรงประทานให้มหาวิทยาลัย

พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ พระพุทธทศพลชินราช และ พระ พุทธพิงคนคราภิมงคล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...