06 กรกฎาคม 2553

จังหวัดเชียงใหม่ About Chiang Mai History of ChiangMai Map and Community

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งใน 76 จังหวัดของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20,107 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรประมาณ 1.63 ล้านคน(ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552) แบ่งการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ มีอำเภอเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในการ บริหารจัดการและปกครองจังหวัด

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาในระดับสูง มีศักยภาพในการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการลงทุน จนเป็นเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมากมาย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนาในสมัยโบราณ มีภาษาล้านนา (คำเมือง) เป็นภาษาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกับจังหวัดอื่น ๆ ทั้งด้านประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม

ประวัติศาสตร์
เมืองเชียงใหม่ มีชื่อปรากฏในตำนานว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"  ซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1839 โดยพญามังราย

ในอดีตเชียงใหม่มีฐานะเป็นราชอาณาจักรนครรัฐอิสระ ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ประมาณ 261 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 1839-พ.ศ. 2101) แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2101 เชียงใหม่ได้เสียเมืองให้แก่ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ของพม่า และได้ถูกปกครองโดยพม่ามานานกว่าสองร้อยปี จนถึงสมัย สมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช และ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอด ฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการทำสงครามเพื่อขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่และเชียงแสนได้สำเร็จ โดยการนำของเจ้ากาวิละ และพระยาจ่าบ้าน

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอด ฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้ากาวิละ ขึ้นเป็น พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ โดยให้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในฐานะประเทศราชของสยาม และราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งเป็นเชื้อสายของพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ ก็ได้ปกครองเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองต่าง ๆ สืบต่อมา และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "รัตนติงสาอภินวบุรีเชียงใหม่"

ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองประเทศราช โดยมีการจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า "มณฑลพายัพ" หรือมณฑลลาวเฉียง ต่อมาเชียงใหม่ได้มีการปรับปรุงการปกครองและยกฐานะขึ้นเป็น "จังหวัด" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัว จนถึงปัจจุบัน


สัญลักษณ์ ประจำจังหวัด
ดอกทองกวาว ดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่

    * สัญลักษณ์ประจำจังหวัด คือ รูปช้างเผือกในเรือนแก้ว หมายถึงความสำคัญ 2 ประการของจังหวัด ซึ่งช้างเผือก คือ ช้างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่นำมาทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระพุทธ เลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และได้ขึ้นระวางเป็นช้างเผือกเอกในรัชกาล ส่วน เรือนแก้ว คือดินแดนที่พุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด
    * ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกทองกวาว
    * ต้นไม้ประจำจังหวัด: ทองกวาว (ชื่อวิทยาศาสตร์:Butea monosperma)
    * อักษรย่อ: ชม


ประชากร

จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรทั้งสิ้น 1,666,024 คน แยกเป็นชาย 818,958 คน หญิง 851,066 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 83 คน/ตร.กม. (ข้อมูลวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552) ส่วนประชาชนบนพื้นที่สูง มีจำนวนทั้งสิ้น 312,447 คน กระจายอยู่ใน 20 อำเภอ มีกลุ่มชนเผ่าต่างๆ รวม 13 ชนเผ่า แบ่งเป็นชาวเขา 7 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน (เย้า) อาข่า (อีก้อ) ลาหู่ (มูเซอ) ลีซอ (ลีซู) และลัวะ จำนวน 229,382 คน เป็นชนกลุ่มน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ ปะหล่อง ไทใหญ่ ไทลื้อ จีนฮ่อ และอื่นๆ รวมจำนวน 34,022 คน


การ คมนาคม
การจราจรในเชียงใหม่ และรถสองแถวรู้จักในชื่อ"รถแดง"

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองหลักของภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและการคมนาคม จึงมีเส้นทางคมนาคมหลักทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และทางอากาศ มีทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด และเส้นทางมาตรฐานหลายสาย ทำให้การเดินทางติดต่อภายในจังหวัด การเดินทางสู่จังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความสะดวก

การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดเชียงใหม่ใช้ ทางหลวงแผ่นดินหมาย เลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ผ่านจังหวัดอยุธยา อ่างทอง นครสวรรค์ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดลำปาง แยกซ้าย ผ่านจังหวัดลำพูน จนถึงจังหวัดเชียงใหม่

การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ของจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างชนบท หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่าง ๆ มีความสะดวก เพราะมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมติดต่อกัน การเดินทางโดยรถยนต์ระหว่างจังหวัดกับอำเภอ ระยะทางที่ไกลที่สุดคือ อำเภออมก๋อย ระยะทาง 179 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 4 ชั่วโมง ระยะทางที่ใกล้ที่สุดคือ อำเภอแม่ริม 8 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 20 นาที โดยระยะทางจากตัวจังหวัด (อำเภอเมืองเชียงใหม่) ไปยังอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับการเดินทางในตัวจังหวัด จะใช้การจราจรโดยรถส่วนบุคคลหรือรถจักรยานยนต์รวมทั้งจักรยาน สำหรับระบบมวลชนจะมี รถแดง ตุ๊กตุ๊ก รถเมล์ และประมาณ พ.ศ. 2550 เริ่มมีแท็กซี่มิเตอร์ในบริการใน จังหวัดเชียงใหม่ โดยรถมีสีเหลือง-น้ำเงิน เป็นแท็กซี่สหกรณ์ ส่วนสีแดง-เหลืองเป็นแท็กซี่ส่วนบุคคล มีสถานีขนส่งภายในตัวจังหวัดเชื่อมต่ออำเภอต่าง ๆ คือ สถานีขนส่งผู้ โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ (สถานีขนส่งช้างเผือก) และสถานีขนส่งระหว่างจังหวัดคือ สถานีขนส่งผู้โดยสาร จังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (สถานีขนส่งอาเขต)
ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

การคมนาคมทางรถไฟ ปัจจุบันมีรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยผ่านจังหวัดอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ลำปาง และลำพูน เปิดการเดินรถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ และรถดีเซลรางปรับอากาศ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมวันละ 14 ขบวน (ไป 7 กลับ 7) และนครสวรรค์-เชียงใหม่ วันละ 2 ขบวน (ไป-กลับ) มีสถานีรถไฟหลักและเป็นสถานีปลายทางในจังหวัดเชียงใหม่ คือสถานีรถไฟเชียงใหม่

การคมนาคมทางอากาศ จังหวัดเชียงใหม่มีท่าอากาศยาน นานาชาติเชียงใหม่ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น รองจากสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ มีเส้นทางบินไป - กลับวันละหลายเที่ยวบิน ทั้งสายการบินภายในประเทศ และสายการบินระหว่างประเทศ โดยสายการบินระหว่างประเทศ มีสายการบินจากเชียงใหม่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียมีเที่ยวบินโดยตรงจากเชียงใหม่ไปยังหลายประเทศ เช่น ประเทศจีน ลาว พม่า ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น

สำหรับระบบรถเมล์ด่วนพิเศษนครเชียงใหม่ (Chiangmai Transit System หรือ CTS) จะเปิดให้บริการในอนาคต แต่ยังติดปัญหาเรื่องงบประมาณและการพิจารณาอนุมัติของสำนักงานขนส่งจังหวัด (สนข.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...