16 ธันวาคม 2552

ดนตรีไทย และเพลงไทยเดิม
เขมรพายเรือ
เพลง อัตราจังหวะสองชั้น ม.ล.ต่วนศรี วรวรรณ แต่งทำนองสำหรับใช้ประกอบการแสดงละครหลวงนฤมิตร หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นำทำนองมาแต่งตัดเป็นอัตราชั้นเดียวสำหรับใช้บรรเลงเป็นเพลงหางเครื่อง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ นายเจริญ แรงเพชร ได้นำอัตราสองชั้น มาแต่งขยายเป็นสามชั้น รวมบรรเลงติดต่อกันเป็นเพลงเถา และนำไปบรรเลงประชันปี่พาทย์ ที่วัดห้วยจระเข้ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
เขมรพวง
เพลง เถา หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงเขมรพวงสองชั้น หรือเพลงเขมรพระประทุมมาแต่งขยายเป็นทำนองสามชั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยแต่งให้เป็นทางกรอ สำเนียงเขมร และให้เข้าคู่กับเพลงเขมรเลียบพระนคร ส่วนทำนองชั้นเดียวได้แต่งในเวลาต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ หมื่นประคมเพลงประสานใจ (ใจ นิตยผลิน) ได้แต่งตัดเป็นอัตราชั้นเดียว เป็นทำนองที่แตกต่างไปจากทำนองของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ส่วนทำนองร้อยชั้นเดียว นายเหมือน ดูรยประกิต เป็นผู้แต่ง นอกจากนี้ราว พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๖๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้จางวางทั่ว พาทยโกศล แต่งขึ้นอีกทางหนึ่งโดยให้ทำนองเที่ยวต้นกับเที่ยวกลับไม่ซ้ำกัน เวลาบรรเลงและขับร้องจะดำเนินทำนองสองเที่ยว เพลงทางนี้ เมื่อรวมทั้งเถาทุกอัตราจังหวะ จะมีความยาวรวม ๑๒ ท่อน
เขมรพระประทุม
เพลง อัตราจังหวะสองชั้น ทำนองเก่า เดิมเรียกชื่อเพลงว่า "เขมรพวง" ในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้นำเพลงเขมรพวงสองชั้นไปบรรจุในตับขอมดำดินโดยปรับให้เป็นเพลงร้องประกอบ การแสดงภาพนิ่ง (ตาโบลวีวอง) เพื่อใช้บรรเลงถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการรับรองแขกเมืองชาวต่างประเทศ การที่เรียกเพลงเขมรพวงว่า เพลงเขมรพระประทุม ก็เนื่องมาจากบทร้องในตับขอมดำดิน ขึ้นต้นบทร้องว่า "เมื่อนั้น พระประทุมสุริยวงศ์ ทรงขัณฑ์" คนทั่วไปจึงเรียกชื่อเพลงตามบทร้องว่าเขมรพระประทุม เช่นเดียวกับเพบงเขมรไทรโยค เพลงสร้อยแสดงแดง เป็นต้น
เขมรปี่แก้วน้อย
เพลง อัตราจังหวะสองชั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำทำนองเพลงในท่อนแรกไปบรรจุบทร้องจำนวน ๔ คำกลอน ในเรื่อวิวาห์พระสมุทร ในบทที่ว่า "โฉมเฉลาเยาวภาอย่างเฉลียวที่เคยเที่ยวเจนจิตทุกทิศา" พระราชทานชื่อใหม่ว่า เพลงเป่าปี่แก้ว และเพลงเขมรปี่แก้วน้อย
เขมรปี่แก้ว
๑. เพลงอัตราจังหวะสามชั้น นายช้อย สุนทรวาทิน แต่งขยายจากเพลงเป่าใบไม้สองชั้น ซึ่งเดิมเป็นเพลง ๒ ท่อน สำเนียงเขมร ท่อนละ ๔ จังหวะ ผู้แต่งได้เพิ่มในท่อน ๒ เป็น ๖ จังหวะ เรียกชื่อว่าเพลงเขมรปี่แก้ว หรือเพลงเขมรเป่าปี่แก้ว บทร้องที่ใช้ร้องเพลงเขมรปี่แก้วมีหลายบท เช่น นำมาจาก เรื่องอิเหนา บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระอภัยมณีของสุนทรภู่ ตอนบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) นำมาบรรจุในเพลงเขมรปี่แก้วใช้สอน เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ขับร้อง
๒. นายมนตรี ตราโมท ได้นำเพลงเขมรปี่แก้วสามชั้น ของนายช้อย สุนทรวาทิน มาแต่งให้มาลีลาและสำเนียงไปตามแนวทางร้องแบบสักว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยในเที่ยวแรกยังคงบรรเลงตามทางของนายช้อย สุนทรวาทิน ส่วนเที่ยวกลับใช้ทางของ นายมนตรี ตราโมท บรรเลง
๓. หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี ทองพิรุฬห์) ได้นำเพลงเขมรปี่แก้วของนายช้อย สุนทรวาทินไปแต่งเป็นทางสักวาอีกทางหนึ่ง
๔. จางวางทั่ว พาทยโกศล นักดนตรีวงวัดกัลยาณ์ได้แต่งขยายและแต่งตัดเป็นเพลงเถาขึ้นอีกทางหนึ่งโดยให้มีสำนวนเพลงแบบทางสักวา
เขมรปากท่อ
เพลง อัตราจังหวะสองชั้น ทำนองเก่าสำเนียงเขมร นักดนตรีไม่ทราบนามแต่งขึ้นและตั้งชื่อเพลงเพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่ชาวเขมร ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลปากท่อ จังหวัดราชบุรี สันนิษฐานจากสำนวนทำนองว่า เป็นเพลงที่แต่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพลงนี้นอกจากจะนิยมบรรเลงขับร้องกันโดยทั่วไปแล้ว ยังนิยมนำไปบรรเลงขับร้องประกอบการแสดง โขน ละคร ด้วย
ในสมัยรัชกาล ที่ ๖ มีนักดนตรีหลายท่านนำเพลงเขมรปากท่อสองชั้น ทำนองเก่า สำเนียงเขมรไปแต่งขยายเป็นอัตราจังหวะสามชั้นและแต่งตัดเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถาหลายทางด้วยกัน คือ
๑. ทางของพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
๒. ทางของจางวางทั่ว พาทยโกศล
๓. ทางของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งแต่งไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๑
เขมรบางนรา
เพลง เถา นายอุทิศ นาคสวัสดิ์ แต่งจากเพลงเขมรบางนราสองชั้น ทำนองเก่า สำเนียงเขมร โดยนำมาแต่งขยายเป็นอัตราจังหวะสามชั้น และแต่งตัดเป็นอัตราจังหวะชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา
เขมรน้อย
เพลง เถา นายปน นิลวงศ์ นักดนตรีชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้นำเพลงเขมรน้อยซึ่งเป็นเพลงทำนองเก่าสำเนียงเขมร และอยู่ในเพลงเรื่องเขมรใหญ่มาแต่งเป็นเพลงเถา เพื่ออวดศักดิ์ศรีและความรู้ความสามารถของนักดนตรีชาวอัมพวา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ทางหนึ่ง และจางวางทั่ว พาทยโกศล แต่งเป็นเพลงเถาขึ้นอีกทางหนึ่ง นิยมนำมาบรรเลงในวงดนตรีบ้านพาทยโกศล หรือวงวัดกัลยาณ์
เขมรไทรโยค
๑. เพลงอัตราจังหวะสามชั้น บทร้องและทำนองเพลงบรรยายความและเลียนเสียงธรรมชาติของน้ำตกไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ โดยนำเพลงเขมรกล่อมลูกสองชั้นทำนองเก่า มาแต่งขยาย แทรกสำเนียงและเพิ่มลีลาให้บรรยายความตามทัศนียภาพที่ได้พบขณะที่ทรงตาม เสด็จไปอำเภอไทรโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ เพลงเขมรไทรโยคสามชั้นนี้ ทรงพระนิพนธ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และได้จัดบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาใน วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓1 ณ ศาลายุทธนาธิการ ประทานชื่อเพลงอะไร และโดยที่เพบงนี้ขึ้นต้นบทร้องว่า "บรรยายความตามไท้ เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์" จึงเรียกชื่อเพลงนี้ว่า เขมรไทรโยคจนเป็นชื่อที่แพร่หลายไปในที่สุด
๒. เพลงเถา หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงเขมรไทรโยคสามชั้น ซึ่งเป็นเพลงพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ มาแต่งขยายเป็นอัตราจังหวะสี่ชั้น โดยดำเนินลีลาและทำนองตามแบบของเพลงเดิม พร้อมกันนี้ก็ได้แต่งตัดลงเป็นอัตราจังหวะตั้งแต่อัตราจังหวะสี่ชั้น สามชั้น และสองชั้น ไม่มีอัตราจังหวะชั้นเดียว แต่มักนิยมบรรเลงออกท้ายเครื่องด้วยเพลงสำเนียงเขมรต่าง ๆ
เขมรทุบมะพร้าว
เพลง อัตราจังหวะสองชั้น ทำนองเก่า สำเนียงเขมร เพลงเขมรทุบมะพร้าวสองชั้นนี้ นายสุวิทย์ บวรวัฒนา ได้นำไปแต่งเป็นเพลงเถา เรียกชื่อใหม่ว่า เพลงสาวสุดสวย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...